คุณครูลมุล ยมะคุปต์
ครูลมุล ยมะคุปต์
(พ.ศ. 2448-2525) เกิดที่จังหวัดน่าน เมื่ออายุได้ 5 ขวบ บิดาได้พามาถวายตัวเป็นละครที่วังสวนกุหลาบ และที่วังสวนกุหลาบ ครูลมุลได้ความรู้ทางละครในรูปแบบของละครนอก ละครในและละครพันทาง ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่วังเพชรบูรณ์ และได้ความรู้ในเรื่องของละครดึกดำบรรพ์ เมื่อออกจากวังเพชรบูรณ์ ครูลมุลได้สมรสกับครูสงัด ยมะคุปต์ และได้ขึ้นไปเป็นครูสอนละครที่เชียงใหม่ในคุ้มพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ซึ่งครูลมุลได้ความรู้เกี่ยวกับนาฏยศิลป์ล้านนาและพม่า ครูลมุลได้นำคณะละครไปแสดงที่เมืองพระตะบอง ประเทศเขมร อยู่ 1 ปี ซึ่งคงได้ประสบการณ์ด้านดนตรีและนาฏศิลป์ของเขมรมาบ้าง ต่อมาเข้ารับราชการเป็นครูแผนกนาฏศิลป์ กรมศิลปากร และทำงานตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย มีผลงานระหว่างปี พ.ศ. 2477-2525 มากกว่า 50 ชุด แบ่งได้เป็น 6 ประเภท คือ
1. ระบำที่ยึดแบบแผนนาฏยศิลป์ไทย
2. ระบำที่ผสมผสานทั้งอาศัยและไม่ได้อาศัยแบบแผนนาฏยศิลป์ไทย
3. ระบำจากภาพแกะสลักโบราณคดี
4. ระบำประกอบเครื่องดนตรี
5. ระบำกำ-แบ
6. ระบำเลียนแบบท่าทางของสัตว์ ผลงานเหล่านี้ผู้วิจัยพบว่ามี 2 แนว คือ แนวอนุรักษ์และแนวพัฒนา ระบำพม่า-มอญ ที่ผู้วิจัยใช้เป็นกรณีศึกษานี้ เป็นระบำประเภทผสมผสานลักษณะท่ารำของพม่าและท่ารำของมอญ ผู้วิจัยพบว่ครูลมุล ยมะคุปต์ น่าจะได้แนวคิดจากแหล่งที่มาดังนี้ 1. ท่ารำมอญของชาวมอญในประเทศไทย
2. ท่ารำของมอญในละครพันทาง
3. ท่ารำของพม่าในละครพันทาง
4. ท่ารำของฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตาทางภาคเหนือ ระบำพม่า-มอญเป็นระบำในละครพันทางเรื่องราชาธิราชตอนกระทำสัตย์ แสดงเมื่อปี 2496 ผู้แสดงเป็นหญิงล้วน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ พม่าและมอญ แบ่งการแสดงเป็น 4 ท่อน คือ 1. กลุ่มพม่าออกในเพลงรัวพม่า
2. กลุ่มมอญออกในเพลงมอญยาดเล้
3. รำพร้อมกัน
4. รำเข้าในเพลงรัวมอญ ปัจจุบันการแสดงระบำพม่า-มอญยังคงรูปแบบการแสดง และจัดอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนของวิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากร ในกรณีศึกษาระบำพม่า-มอญ ผู้วิจัยพบว่าครูลมุลสามารถนำเอาท่ารำของต่างชาติ มาประดิษฐ์ขึ้นใหม่ได้อย่างแนบเนียนและกลมกลืน ระหว่างนาฏยศิลป์ รูปแบบที่แตกต่างกันอย่างมาก ทั้งยังเป็นแนวคิดและกลวิธีที่เป็นประโยชน์ต่อการประดิษฐ์ระบำในยุคหลังๆ และเนื่องจากผลงานนาฏยประดิษฐ์ของครูลมุลมีมาก จึงควรมีการวิจัยที่ล่มลึกศึกษากันต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น