ระบำ รำ ฟ้อน
นาฏศิลป์ เป็นการรวมความเป็นเลิศของศิลปะแขนงต่าง ๆ วิวัฒนาการมาพร้อมกับความเจริญของมนุษย์ โดยอาศัยพลังและเจตนา เป็นเครื่องผลักดันให้จิตกระตุ้นร่างกายให้แสดงการเคลื่อนไหว มีจังหวะ มีแบบแผน เพื่อให้เกิดความสุข ความเข้าใจ และความงดงามแก่ตนเองและผู้อื่น นาฏศิลป์ไทย เป็นศิลปวัฒนธรรมประจำชาติแต่โบราณ เป็นศิลปะชั้นสูง แยกประเภทการแสดงออกเป็นหลายแบบ ใช้ภาษาท่าเหมือนกันแต่แยกลักษณะและประเภทการแสดงแตกต่างกัน ขอบ ข่ายของนาฏศิลป์ไทย จำแนกเป็นประเภทต่างๆ ได้แก่ โขน หนัง หุ่น ละครรำ ละครรำ ละครร้อง ละครสังคีต ละครพูด การละเล่นของหลวงการเล่นเบิกโรงการละเล่นพื้นเมือง
นาฏศิลป์ไทยประเภทต่างๆ ดังกล่าวมานี้ เรียกกันโดยทั่วไปว่า "มหรสพ" ซึ่งหมายถึงการเล่นรื่นเริง มีโขน ละคร หรือสิ่งที่คล้ายคลึงกัน ปัจจุบันมหรสพมีความหมายกว้างขวาง รวมไปถึงการเล่นรื่นเริงทุกชนิด มีระบำ รำ ฟ้อน เป็นต้น ระบำ คือ ศิลปะของการร่ายรำที่แสดงพร้อมกันเป็นหมู่เป็นชุด ความงามของการแสดงระบำ อยู่ที่ความสอดประสานกลมกลืนกัน ด้วยความพร้อมเพรียงกัน การแสดงมีทั้งเนื้อร้องและไม่มีเนื้อร้อง ใช้เพียงดนตรีประกอบ คำว่า "ระบำ" รวมเอา "ฟ้อน" และ "เซิ้ง" เข้าไว้ด้วยกัน เพราะวิธีการแสดงไปในรูปเดียวกัน แตกต่างกันที่วิธีร่ายรำ และการแต่งกายตามระเบียบประเพณีตามท้องถิ่น ระบำ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ระบำดั้งเดิมหรือระบำมาตรฐาน และระบำปรับปรุงหรือระบำเบ็ดเตล็ด รำ หมายถึง การแสดงที่มุ่งความงามของการร่ายรำ เป็นการแสดงท่าทางลีลาของผู้รำ โดยใช้มือแขนเป็นหลัก 1. การรำเดี่ยว คือ การรำที่ใช้ผู้แสดงเพียงคนเดียว จุดมุ่งหมายคือ 1.1 ต้องการอวดฝีมือในการรำ 1.2 ต้องการแสดงศิลปะร่ายรำ 1.3 ต้อง การสลับฉากเพื่อรอการจัดฉากหรือตัวละครแต่งกายยังไม่เสร็จเรียบร้อย การรำเดี่ยว เช่น การรำฉุยฉายต่าง ๆ รำมโนราห์บูชายัญ รำพลายชุมพล ฯลฯ 2. การรำคู่ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ รำคู่ในเชิงศิลปะการต่อสู้ ไม่มีบทร้อง และรำคู่ในชุดสวยงาม 2.1 การรำคู่ในเชิงศิลปะการต่อสู้ ได้แก่ กระบี่ กระบอง ดาบสองมือ โล่ ดาบ เขน ดั้ง ทวน และรำกริชเป็นการรำไม่มีบทร้องใช้สลับฉากในการแสดง 2.2 การรำคู่ในชุดสวยงาม ท่ารำในการรำจะต้องประดิษฐ์ให้สวยงาม ทั้งท่ารำที่มีคำร้องตลอดชุด หรือมีบางช่วงเพื่ออวดลีลาท่ารำ มีบทร้องและใช้ท่าทางแสดงความหมายในตอนนั้น ๆ ได้แก่ หนุมานจับสุพรรณมัจฉา หนุมานจับนางเบญกาย พระรามตามกวาง พระลอตามไก่ รามสูร เมขลา รจนาเสี่ยงพวงมาลัย ทุษยันต์ตามกวาง รำแม่บท รำประเลง รำดอกไม้เงินทอง รถเสนจับม้า 3. การรำหมู่ เป็นการแสดงมากกว่า 2 คนขึ้นไป ได้แก่ รำโคม ญวนรำกระถาง รำพัด รำวงมาตรฐาน และรำวงทั่วไป การแสดงพื้นเมืองของชาวบ้าน เช่น เต้นกำรำเคียว รำกลองยาว ฟ้อน หมายถึง ศิลปะการแสดงที่เป็นประเพณีของทางภาคเหนือ จะใช้ผู้แสดงเป็นจำนวนมาก มีลีลาการฟ้อนพร้อมเพรียงกันด้วยจังหวะที่ค่อนข้างช้า
เอกลักษณ์และความสำคัญของการฟ้อนรำไทย
การฟ้อนรำของไทย มีลักษณะเฉพาะตัว และมีความเป็นไทยในตัวเองเป็นอย่างยิ่ง เป็นศิลปะประจำชาติ ไม่ซ้ำหรือเหมือนของชาติอื่น นับว่าเป็นสมบัติอันเป็นวัฒนธรรมของชาติที่น่าภูมิใจยิ่ง |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น